ผู้เขียน หัวข้อ: ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: ตาอักเสบจากเชื้อหนองใน (Gonococcal ophthalmia neona  (อ่าน 37 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 269
  • รับจ้างโพสเว็บราคาถูก, รับจ้างโปรโมทเว็บราคาถูก
    • ดูรายละเอียด
ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: ตาอักเสบจากเชื้อหนองใน (Gonococcal ophthalmia neonatorum)

ตาอักเสบจากหนองใน พบในทารกแรกเกิดที่มารดามีเชื้อหนองในอยู่ในช่องคลอด ปัจจุบันพบได้น้อย

สาเหตุ
เกิดจากการติดเชื้อหนองใน (gonococcus) จากช่องคลอดของมารดาขณะที่คลอด

อาการ
ทารกจะมีอาการตาอักเสบ หนังตาบวมแดง ลืมตาไม่ได้ และมีขี้ตาแฉะ ลักษณะเป็นหนองสีเหลืองหรือสีเขียว ซึ่งมักจะปรากฏอาการในวันที่ 2-5 หลังคลอด

ภาวะแทรกซ้อน

ถ้าปล่อยทิ้งไว้ อาจลุกลามจนทำให้เป็นแผลกระจกตา สายตาพิการหรือตาบอดได้

การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย

มักตรวจพบขี้ตาลักษณะเป็นหนองสีเหลืองหรือสีเขียว คลำได้ต่อมน้ำเหลืองที่หน้าหูโต

แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการนำหนองที่ตาไปตรวจหาเชื้อหนองใน (Neisseria gonorrhoeae) ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การย้อมสีแกรม (Gram stain) และตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์, การเพาะเชื้อ, การตรวจหาเชื้อด้วยวิธี Polymerase chain reaction (PCR) เป็นต้น


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะรับตัวไว้ในโรงพยาบาล ให้การรักษาด้วยการฉีดเซฟทริอะโซน (ceftriaxone) ขนาด 25-50 มก./น้ำหนักตัว 1 กก. เข้ากล้ามหรือเข้าหลอดเลือดดำครั้งเดียว และล้างตาด้วยน้ำเกลือทุกชั่วโมงจนกว่าหนองจะแห้ง (แพทย์จะใช้ยาเซฟทริอะโซนด้วยความระมัดระวังในทารกคลอดก่อนกำหนดหรือมีอาการตัวเหลือง)

ผลการรักษา ถ้าได้รับการรักษาตั้งแต่แรกเริ่ม ก็จะหายได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่ถ้าได้รับการรักษาล่าช้าไป ก็อาจมีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงถึงขั้นตาบอด


การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น ทารกแรกเกิดมีอาการหนังตาบวมแดง มีขี้ตาแฉะ ลืมตาไม่ได้ ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว

เมื่อตรวจพบว่าเป็นตาอักเสบจากเชื้อหนองใน ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด

ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้าสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ

การป้องกัน

1. หญิงตั้งครรภ์ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ควรได้รับการตรวจกรองโรคหนองใน และให้การรักษาถ้าพบว่าเป็นโรคนี้ และควรตรวจกรองซ้ำในไตรมาสที่สามของการตั้งครรภ์หรือในระยะใกล้คลอด

2. กรณีที่ไม่ได้รับการตรวจกรองมาก่อน หญิงตั้งครรภ์ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ควรได้รับการตรวจกรองโรคหนองในขณะคลอด ถ้าพบว่าเป็นหนองในควรให้ยารักษาโรคนี้ทันที

3. ทารกหลังคลอดทุกราย ไม่ว่าจะคลอดโดยวิธีใด ควรใช้ยาป้ายตาอีริโทรไมซินชนิด 0.5% หรือยาป้ายตาเตตราไซคลีนชนิด 1% ป้ายตา 2 ข้างทันทีหลังคลอด เพียงครั้งเดียว (ถ้าพบว่าไม่ได้ป้ายยานี้หลังคลอดทันที ก็ควรทำการป้ายตาภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด)

4. ทารกที่เกิดจากมารดาที่เป็นหนองในขณะคลอด ควรป้องกันโดยการฉีดเซฟทริอะโซนในขนาดเดียวกับที่ใช้รักษา


ข้อแนะนำ

ถ้าพบทารกแรกเกิดมีอาการตาบวมตาแฉะ ซึ่งเกิดขึ้นใน 2-5 วันหลังคลอด ควรนึกถึงการติดเชื้อหนองใน และควรพาไปพบแพทย์โดยเร็ว