คุณพ่อคุณแม่อาจกังวลใจว่าจะทำอย่างไรให้ลูกหายกลัวหมอฟันดีนะ หลายครั้งที่พบว่าลูกกลัวจนงอแงและไม่อยากไปรักษาฟัน แม้ว่าจะมีปัญหาฟันก็ตาม วันนี้เราจะมาแนะนำวิธีรักษาอาการลูกกลัวหมอฟันกันครับ
ทำไมเด็ก ๆ ถึงกลัวหมอฟัน
1. เด็กได้ยินเรื่องเกี่ยวกับหมอฟันในแง่ลบ
ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่หรือเด็กรุ่นราวคราวเดียวกันหลาย ๆ คนที่ได้ยินหรือมีประสบการณ์การทำฟันที่แย่มาจากคลินิกที่ไม่ได้มาตรฐาน อาจรู้สึกเข็ดขยาดกับการทำฟัน เวลามีใครมาถามเกี่ยวกับการทำฟันก็ตาม คนเหล่านั้นมักจะตอบคำถามด้วยความรู้สึกกลัวหมอฟัน ทำให้เด็ก ๆ ที่ได้ยิน โดยเฉพาะเด็กที่ไม่เคยมีประสบการณ์การทำฟันมาก่อน รู้สึกกลัวและคิดไปเองว่าการทำฟันจะสร้างความเจ็บปวด ส่งผลให้เด็กกลัวการทำฟัน
2. ผู้ปกครองพูดข่มขู่ให้เด็กรู้สึกกลัว หรือโกหกเด็กว่าไม่เจ็บ
หลายคนมีความคิดผิด ๆ ว่าการข่มขู่ให้ลูกกลัวหมอฟัน จะทำให้เด็กยอมสยบต่อหมอฟันโดยดี แต่ที่จริงแล้วกลับส่งผลเสียต่อลูกเป็นอย่างมาก ไม่ว่าใครก็ไม่ชอบการถูกบังคับใช่มั้ยล่ะครับ โดยเฉพาะวัยเด็กที่กล้าคิดกล้าแสดงออกอย่างเต็มที่ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ห้ามข่มขู่ลูกให้กลัวหมอฟันเด็ดขาด เพราะจะทำให้เด็กกลัวและแสดงอาการต่อต้านอย่างรุนแรง และหากใช้กำลังบังคับลูกทำฟัน ก็อาจสร้างแผลในใจจนลูกไม่อยากทำฟันและละเลยการดูแลสุขภาพช่องปาก กลายเป็นปัญหาช่องปากระยะยาวได้
หรือหากคุณพ่อคุณแม่โกหกลูกว่าทำฟันไม่เจ็บหรอก แน่นอนว่าการฉีดยามันเจ็บอยู่แล้วแน่ ๆ เมื่อเด็กถูกฉีดยาแล้วรู้สึกเจ็บ เด็กอาจเริ่มไม่เชื่อใจทั้งคุณหมอและตัวคุณพ่อคุณแม่เองด้วย ดังนั้นหากลูกถามว่าเจ็บมั้ย ให้ตอบตามความเป็นจริง เพียงแค่เลือกใช้คำพูดที่เหมาะสมและทำให้เด็กไม่รู้สึกกลัว เช่น พ่อ/แม่เคยฉีดยาแล้ว รู้สึกเหมือนมดกัดเลย เจ็บนิดเดียวเองลูก หรือถ้าลูกให้ความร่วมมือในการรักษาจนจบ คุณพ่อคุณแม่ควรให้รางวัลลูกด้วยการกอดหรือพูดให้กำลังใจเพื่อให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองเก่งมากที่ผ่านการรักษามาได้โดยที่ไม่ร้องไห้เลย ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่อาจให้รางวัลได้ในบางครั้งเพื่อให้เด็กมีกำลังใจในการทำฟันครั้งต่อไป แต่ไม่ควรให้บ่อย ๆ นะครับ เพื่อจะติดเป็นนิสัยและทำให้เด็กคาดหวังกับของรางวัลทุกครั้งที่มารักษา
3. ละเลยการดูแลเอาใจใส่ฟันลูกน้อย
ต้นเหตุของปัญหาฟันส่วนใหญ่มีอยู่ 2 กรณี คือ เด็กมีปัญหาช่องปากอันเกิดจากพันธุกรรมและปัญหาที่เกิดจากการดูแลสุขภาพช่องปากไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้ฟันมีปัญหาเรื้อรังจนต้องมาตามแก้กันยกใหญ่ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญกับการดูแลช่องปากลูกน้อยเป็นประจำ เริ่มจากการปลูกฝังให้ลูกรักและดูแลสุขภาพฟันอย่างถูกวิธี เริ่มจากการร่วมกันแปรงฟันกับลูกทุกครั้งอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง (หลังมื้อเช้า 30 นาที และก่อนนอน) หรือแปรงทุกครั้งหลังมื้ออาหารอย่างน้อย 30 นาที เพื่อกำจัดเศษอาหารที่ติดตามซอกฟันจนกลายเป็นหินปูน นอกจากนี้หลีกเลี่ยงอาหารหรือขนมที่ทำให้ฟันสึกกร่อนง่าย เช่น น้ำอัดลมที่มีฤทธิ์เป็นกรด และขนมที่มีน้ำตาลสูง เช่น ลูกอม, ไอศกรีม ทั้งนี้อาจให้ลูกกินได้แต่ไม่ควรบ่อยเกินไป
นอกจากนี้หากลูกมีปัญหาฟันในช่วงที่ฟันลูกเป็นฟันน้ำนม เช่น ฟันหลุด ฟันหัก อย่ารอให้ฟันแท้งอกขึ้นมา เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาจกลายเป็นฟันผุ มีหนองใต้เหงือก หรืออาจลุกลามไปถึงระบบทางเดินหายใจ อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ด้วย
4. ตามใจลูกหากลูกไม่อยากไปหาหมอฟัน
การไม่พาลูกไปหาหมอฟันตามนัดเพราะคิดว่าเดี๋ยวฟันน้ำนมก็หลุดแล้ว รักษาตอนทำฟันแท้ทีเดียวดีกว่า หรือถ้าลูกไม่อยากไปทำฟันวันนี้ ก็ไม่พาไป เดี๋ยวค่อยทำฟันวันอื่นก็ได้ ความคิดเหล่านี้ควรตัดทิ้งจากหัวไปเลยครับ เพราะเป็นความคิดที่อันตรายมาก การมารักษาตามหมอนัดจะช่วยให้การรักษาช่องปากเป็นไปตามแผนของคุณหมอ แต่ถ้าไม่มาตามนัด อาจต้องเลื่อนแผนการรักษาให้นานขึ้น หากปล่อยไว้นานอาจทำให้ปัญหาช่องปากเรื้อรังจนเป็นอันตรายในระยะยาวได้
จัดฟันเด็ก: แก้ปัญหาลูกกลัวหมอฟันได้ด้วยวิธีที่ถูกต้อง อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://www.idolsmiledental.com/การจัดฟันเด็ก/